วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

นักลงทุน 4 ประเภท

นักลงทุน 4 ประเภท
ตอนนี้ ผู้น้อย ‘มังกรในสระ’ จะกล่าวถึงจุดเริ่มต้นแห่งการสร้างแนวทางการลงทุนที่สอดคล้องกับจุดแข็งและจุดอ่อนสำหรับนักลงทุนแต่ละคนเลยทีเดียว ทว่าต้องขอย้ำอีกครั้งว่า จุดเริ่มต้นที่ว่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อนักลงทุนผู้นั้นตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาดแล้วว่าจะเลิกลงทุนแบบจับจดเสียที และจะมุ่งมั่นแสวงหาแนวทางการลงทุนอันเป็นเลิศเฉพาะตนแทน
ขึ้นต้นว่าจะกล่าวถึงการสร้างแนวทางการลงทุนสำหรับนักลงทุนแต่ละคน ฟังดูโอ้อวดอยู่บ้าง เพราะนักลงทุนแต่ละคนต่างก็มีความเป็นปัจเจก มีความแตกต่างในหลากหลายด้านไม่ว่าจะเป็นอายุ เพศ การศึกษา สถานะทางเศรษฐกิจ ทัศนคติ อุปนิสัยใจคอ และอีกสารพัดจะกล่าว แต่ผู้น้อยย่อมพิจารณาดีแล้วจึงกล้ากล่าวเช่นนั้น เนื่องด้วยไม่ว่านักลงทุนแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันมากเพียงใด เนื้อแท้ของแต่ละคนย่อมประกอบด้วย 2 สิ่งร่วมกัน นั่นคือ ‘เงิน’ กับ ‘ความกล้า’ ขาด 2 สิ่งนี้ย่อมเป็นนักลงทุนไม่ได้ หรือ ขาดเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นนักลงทุนไม่ได้เช่นกัน หากมีเงิน แต่ขาดความกล้า ก็เป็นได้เพียงนักออมเงินเท่านั้น หากมีความกล้าแต่ขาดเงิน ก็เป็นได้เพียงนักออมเงินอีกเช่นกัน พร้อมเมื่อไร ค่อยลงทุน แต่ถ้าขาดทั้งเงิน ขาดทั้งความกล้า ก็คงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากเป็นนักอุตสาหะ ขยันขันแข็งประกอบสัมมาอาชีพ แสวงหาความรู้และช่องทางในการเพิ่มพูนรายได้โดยสุจริต ดูผู้ที่สู้ชีวิตจนประสบความสำเร็จทั้งหลายเป็นแบบอย่าง พร้อมกับกันตนเองให้พ้นจากอบายมุข นั่นประไร! เผลอหน่อยเดียวเป็นนักเทศน์ไปเสียแล้ว
เข้าเรื่องต่อดีกว่า เมื่อผู้น้อยตัดรายละเอียดปลีกย่อยที่อยู่ในความเป็นปัจเจกของนักลงทุนแต่ละคนออกไปแล้ว ก็เหลือองค์ประกอบพื้นฐานเพียงสองส่วนด้วยกันดังได้กล่าวมาแล้วได้แก่ เงิน ซึ่งหมายถึง เงินออมที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้อย่างน้อยก็ในระยะ 1 ปี และ ความกล้า หมายถึง จิตใจที่พร้อมเผชิญความเสี่ยง หรือ ความสูญเสียที่อาจเกิดจากการลงทุน เมื่อทราบความหมายของทั้งสององค์ประกอบแล้ว คราวนี้ก็สามารถนำมาจัดประเภทนักลงทุนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งผู้น้อยพิเคราะห์แล้วเห็นว่าย่อมไม่พ้นไปจาก 4 ประเภทดังต่อไปนี้ 1.ทุนมาก ชอบเสี่ยง 2.ทุนมาก ไม่ชอบเสี่ยง 3.ทุนน้อย ชอบเสี่ยง 4.ทุนน้อย ไม่ชอบเสี่ยง ขอขยายความสักเล็กน้อยว่า การแบ่งว่า ทุนมากหรือทุนน้อยนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่ปริมาณเงินที่สามารถนำไปลงทุนได้เป็นหลัก แต่ขึ้นอยู่กับระยะเวลา หรือ ความเย็นของเงินว่าจะสามารถคงอยู่กับการลงทุนได้นานเพียงใด ส่วนการแบ่งว่าชอบเสี่ยง หรือ ไม่ชอบเสี่ยงนั้นเป็นการแบ่งตามคุณสมบัติพื้นฐานทางด้านจิตใจ หรือ อัธยาศัยของแต่ละบุคคลนั่นเอง
เชิญนายท่านพิจารณารายละเอียดของความเป็นนักลงทุนในแต่ละประเภทดังต่อไปนี้
- ‘ทุนมาก ชอบเสี่ยง’ นักลงทุนประเภทนี้คือผู้ที่มีบ้านเป็นของตนเองโดยปราศจากภาระผ่อนชำระหรือติดจำนอง คือผู้ที่มีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สินตั้งแต่ 2 เท่าขึ้นไป คือผู้ที่มีเงินออมที่ไม่จำเป็นต้องใช้ในช่วงเวลาอย่างน้อย 10 ปี และคือผู้ที่มีรายได้มั่นคงและยั่งยืน ส่วนพื้นฐานจิตใจของนักลงทุนประเภทนี้ย่อมเข้ากันได้ดีกับความมีทุนมาก คือเป็นผู้ชอบเสี่ยง ปรารถนาผลตอบแทนจากการลงทุนที่เหนือกว่าความคาดหมายที่จะได้มาโดยใช้ระยะเวลาอันสั้น ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องรอข้อมูลรอบด้าน และคือผู้ที่มีความกระตือรือร้นที่จะแสวงหาโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนอยู่ตลอดเวลา
- ‘ทุนมาก ไม่ชอบเสี่ยง’ นักลงทุนประเภทนี้มีคุณสมบัติในส่วนของทุนครบถ้วนเช่นเดียวกับนักลงทุนประเภทแรก แต่อัธยาศัยในการลงทุนย่อมแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากนักลงทุนประเภทนี้ชอบความแน่นอนมากกว่าความเสี่ยง ปรารถนาผลตอบแทนจากการลงทุนที่อยู่ในความคาดหมายที่จะได้มาโดยใช้ระยะเวลาอันเหมาะสม ตัดสินใจอย่างรอบคอบรัดกุมโดยอาศัยข้อมูลรอบด้าน และกระตือรือร้นที่จะแสวงหาโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนเมื่อสภาวการณ์ต่างๆเอื้ออำนวย
- ‘ทุนน้อย ชอบเสี่ยง’ นักลงทุนประเภทนี้มีคุณสมบัติในส่วนของทุนไม่ครบถ้วนอย่างนักลงทุนประเทศที่หนึ่งและสอง โดยอาจจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ ไม่ขาดแต่ไม่สมบูรณ์เท่า เช่น มีบ้านเป็นของตนเองแต่ติดภาระผ่อนชำระ มีสินทรัพย์สูงไม่ถึง 2 เท่าของหนี้สิน มีเงินออมแต่จำเป็นต้องใช้ภายใน 10 ปี หรือ มีรายได้ที่มั่นคงแต่ไม่ยั่งยืน ขณะที่พื้นฐานทางด้านจิตใจของนักลงทุนประเภทนี้ไม่สอดคล้องกับความมีทุนน้อย เนื่องจากชอบเสี่ยง ปรารถนาผลตอบแทนจากการลงทุนที่เหนือกว่าความคาดหมายที่จะได้มาโดยใช้ระยะเวลาอันสั้น ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องรอข้อมูลรอบด้าน และมีความกระตือรือร้นที่จะแสวงหาโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนอยู่ตลอดเวลา นักลงทุนประเภทที่สามนี้อาจมีความกล้าหาญพอที่จะกู้เงินเพื่อนำเงินไปเสี่ยงลงทุน ซึ่งก็มีทั้งประสบความสำเร็จและความล้มเหลว
- ‘ทุนน้อย ไม่ชอบเสี่ยง’ นักลงทุนประเภทนี้มีคุณสมบัติในส่วนของทุนเช่นเดียวกับนักลงทุนประเภทที่สาม ทว่ามีพื้นฐานทางด้านจิตใจแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากชอบความแน่นอนเป็นหลัก ปรารถนาผลตอบแทนจากการลงทุนที่อยู่ในความคาดหมายที่จะได้มาโดยใช้ระยะเวลาอันเหมาะสม ตัดสินใจอย่างรอบคอบรัดกุมโดยอาศัยข้อมูลรอบด้าน และกระตือรือร้นที่จะแสวงหาโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนเมื่อสภาวการณ์ต่างๆเอื้ออำนวย นักลงทุนประเภทนี้จะลงทุนเท่าที่ทุนของตนมี ไม่อาจหาญก่อหนี้เพื่อนำเงินไปลงทุนแสวงหาผลตอบแทนที่สูงเกินคาด
เป็นอันจบสำหรับลักษณะของนักลงทุน 4 ประเภท คราวนี้ก็มาถึงจุดเริ่มต้นแห่งการสร้างแนวทางการลงทุนที่สอดคล้องกับจุดแข็งและจุดอ่อน นั่นคือ การวิเคราะห์ตนเองว่า ฐานะทางเศรษฐกิจ พื้นฐานทางด้านจิตใจ ประสบการณ์และความชำนาญเฉพาะตน หรือ พรสวรรค์ที่มีอยู่ น่าจะสอดคล้องกับการเป็นนักลงทุนประเภทใดมากที่สุด ผู้น้อยขอยืนยันว่า นักลงทุนทั้ง 4 ประเภทนี้มีศักยภาพที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุนได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน อยู่ที่การตัดสินใจว่าจะเป็นนักลงทุนแบบใดที่จะเข้ากับอัธยาศัยของตนมากที่สุดเท่านั้น ตำราบางเล่มมุ่งที่จะให้นักลงทุนทุกคนเป็นประเภท ‘ทุนมาก ไม่ชอบเสี่ยง’ หรือ ‘ทุนน้อย ไม่ชอบเสี่ยง’ ทว่าผู้น้อยเห็นว่าจะเป็นนักลงทุนประเภทใดก็รวยได้ไม่แพ้กัน ขอเพียงพัฒนาทักษะการรุก รับ ถอยเฉพาะตนให้ชำนาญและสอดคล้องกับตัวตนของตนเองให้มากที่สุดเท่านั้นพอ เริ่มจะออกไปทางปรัชญาสักหน่อย ทว่าก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะนักลงทุนอย่างจอร์จ โซรอส หรือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ต่างก็มีแนวทางการลงทุนของตน ซึ่งก็ทำให้เป็นเศรษฐีระดับโลกได้เหมือนกัน
ส่วนจะรวยมากน้อยกว่ากันเพียงใดนั้นไม่สำคัญ เพราะถ้าเป็นเศรษฐีระดับที่ใช้เงินไม่หมดในชาตินี้ ผู้น้อยก็ถือว่ารวยเท่ากัน คนหนึ่งมุ่งแสวงหาผลตอบแทนจากการเก็งกำไรเมื่อโอกาสมาถึง ขณะที่อีกคนหนึ่งมุ่งแสวงหาผลตอบแทนจากปัจจัยพื้นฐานอันแข็งแกร่งที่คนส่วนใหญ่คลาดสายตา ทว่าผลลัพธ์ที่ออกมาคือ ‘รวยทั้งคู่’ และรวยในระดับที่ใช้เท่าไรก็ไม่หมด จึ่งเป็นดั่งสุภาษิตจีนที่ว่า ‘ไม่ว่าแมวสีใด จับหนูได้เหมือนกัน’ ซึ่งท่านประธาน ‘เติ้ง เสี่ยวผิง’ ผู้ล่วงลับเคยนำมากล่าวเมื่อครั้งนำระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมาใช้ควบคู่กับระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ (นั่นแนะ!ไม่วายแถมความรู้ประวัติศาสตร์เข้าไปอีก) ดังนั้น ไม่ว่านายท่านจะเป็นนักลงทุนประเภทใด หรือ ตัดสินใจที่จะเป็นนักลงทุนประเภทใด ขอให้เป็นแมวที่จับหนูได้ก็พอ คือ เป็นนักลงทุนที่ประสบชัยชนะอย่างยั่งยืนในตลาดหุ้นไทยนั่นเอง

เมื่อทราบและแน่ใจแล้วว่า ตนเองเป็นนักลงทุนประเภทใด ตอนหน้า ผู้น้อยขอเชิญพบกับการพัฒนากลยุทธ์การลงทุนที่สอดคล้องกับนักลงทุนแต่ละประเภท วอนนายท่านติดตาม สวัสดี........

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เชิญแสดงความคิดเห็น krub