วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2553

ลำบากเข้าไว้ต่อไปจะสบาย

คนเราถ้าจะประสบความสำเร็จได้ต้องผ่านความลำบากมาก่อน ถ้าสบาย...จะสำเร็จยาก คนเราเวลาลำบากแล้วมันจะต้องรีดเอาสมรรถนะของตัวเองทุกส่วนที่มีอยู่ออกมาเพื่อต่อสู้กับความลำบากนั้น แล้วมันจะทำให้ตัวเองมีความก้าวหน้าได้
คนในยุคปัจจุบันมันสบายเกิน ในเมื่อสบายเกิน ความก้าวหน้ามันจะมีน้อย ร่างกายของเราต้องเจอการกดดัน ก็คือ การฝึกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ย้ำแล้วย้ำเล่า จนกระทั่งกระดูกเส้นเอ็นมันเข้มแข็งขึ้น สมรรถนะร่างกายมันจึงจะก้าวขึ้นสู่จุดสูงขึ้นได้ เรื่องของใจก็เหมือนกัน ถ้าหากเราอยู่ในสถานที่สบาย ๆ เลี่ยงความลำบากเอาความสบาย ถ้าหากไม่ได้สร้างบุญมาดีจริงประสบความสำเร็จยากมาก เพราะมันจะไม่รู้เลยว่าตัวเองมีสมรรถนะเท่าไหร่ โบราณเขาบอกว่าลำบากก่อนแล้วสบายเมื่อปลายมือ แต่พวกเรามันสบายก่อนแล้วก็ตายเมื่อปลายมือ ไปไม่รอด
พระพุทธเจ้าท่านกำหนดธุดงควัตร ๑๓ ประการเอาไว้ เพื่อเค้นเอาสมรรถนะของพระภิกษุในพระพุทธศาสนานี้ออกมา เราจะเลี่ยงไปฝึกอย่างอื่นก็ได้ ถ้าหากว่าจริตนิสัยชอบและทุ่มเท แต่ถ้าหากจริตนิสัยมันหยิบหย่งจับจด เอาดีได้ยาก ให้เอาธุดงค์ไปเลย ให้มันรู้สึกว่าลำบากแทบล้มประดาตาย เดี๋ยวมันก็เห็นทุกข์เอง ไม่อย่างนั้นมันไม่เห็น
อยู่สบายกินสบาย พอเจอธุดงควัตรเข้าไป เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ฉันมื้อเดียวเป็นวัตร นั่งอาสนะเดียวเป็นวัตร แค่นี้ก็จะแย่อยู่แล้ว หลวงปู่วัดพระพุทธบาทตากผ้าท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านไปธุดงค์แล้วหลงทาง เดินอดข้าวมาสองวัน พอวันที่สามหลุดออกจากชายป่า มาเจอบ้านโยมดีใจแทบตาย เห็นว่า ๑๑ โมงยังฉันได้ โยมเห็นว่าพระอดมาสองวันก็รีบหุงข้าวให้ ในระหว่างที่รอให้ข้าวสุกท่านเกิดเป็นลมไปก่อน ฟื้นขึ้นมาก็ปรากฏว่าเลยเที่ยงไปแล้ว ทำให้อด ไม่ได้ฉันอีก
พอวันที่สี่ท่านก็เดินไปเรื่อย ๆ กว่าจะเจอบ้านก็เกือบครึ่งวัน เมื่อบิณฑบาตได้ข้าวมาแล้ว ก็หลีกไปก็ปูผ้านั่งฉัน พอเปิดฝาบาตรฉันข้าวได้คำเดียว ช้างของชาวบ้านก็ดันตกมัน วิ่งมาทางนั้นพอดี หลวงปู่ท่านก็ต้องเผ่นลุกออกไป ทีนี้พระธุดงค์ท่านถือว่า นั่งฉันแล้ว...ถ้าลุกคือเลิกเลย แล้วหลวงปู่เพิ่งฉันได้คำเดียวด้วย ตกลงว่าสี่วันได้ฉันข้าวคำเดียว แต่ว่าท่านลำบากอย่างนั้นแล้วท่านมักจะได้มรรคได้ผล ตามที่ท่านต้องการ เพราะว่าจะให้ลำบากกว่านั้นมันไม่มีแล้ว อดจนแทบล้มประดาตาย แล้วท่านก็ยังไม่ยอมละเมิดศีล รักษาศีลยิ่งกว่าชีวิต
ถ้าหากว่าทำตัวให้ลำบากไว้ ต่อไปอะไร ๆ ก็จะสบาย อาตมาเองตอนช่วงธุดงค์ ด้วยความที่ตัวเองลำบากมามาก เป็นลูกชาวไร่ ทำงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำ พอมาเป็นทหารก็เจอการฝึกทั้งกลางวันกลางคืนแทบไม่มีเวลาพักผ่อน ร่างกายจิตใจมันก็เลยที่จะค่อนข้างแข็งแกร่ง เดินธุดงค์มันก็รู้ว่าลำบาก เชื่อไหมว่ามันลำบากเสียจนแทบล้มประดาตาย จนกระทั่งถึงวันที่ ๑๑ มันจึงยอมรับว่าทุกข์ ก่อนหน้านั้นมันไม่เคยยอมรับเลย มันนึกอยู่อย่างเดียวว่าแค่นี้กูไปได้ เพราะฉะนั้นถ้ามันไม่ลำบากถึงที่สุดจริง ๆ เราก็จะไม่นึกถึงความตาย มันไม่ลำบากจริง ๆ มันก็จะไม่นึกถึงความทุกข์ แล้วถ้าไม่ลำบากถึงที่สุดจริง ๆ สันดานอาตมาก็ไม่นึกขอให้คนช่วยเสียด้วย พอมันถึงที่สุดของที่สุดแล้วมันค่อยนึกถึงพระ นึกถึงครูบาอาจารย์ ไม่อย่างนั้นมันนึกอย่างเดียวว่าของแค่นี้เราเคยผ่านมาแล้ว เราไปได้
ก็เลยกลายเป็นว่าถ้าเราอยากจะเอาดีต้องยอมลำบาก สบายไม่ได้ ที่อาตมาออกจากวัดท่าซุงมาก็ด้วยเหตุนี้ เพราะว่าตอนที่อยู่วัดมันแทบจะก้าวถึงจุดสูงสุดแล้ว พระพี่พระน้องทั้งวัดเขายอมรับแล้วว่าเราแสบสุด ไม่มีใครยิ่งกว่านี้แล้ว ถ้าหากอยู่ลักษณะอย่างนั้นแล้วมันจะหาความก้าวหน้าไม่ได้ เพราะในเมื่อคนอื่นเขายกไว้ในที่สูงแล้วมันหาคู่แข่งไม่ได้ ในเมื่อมันหาคู่แข่งไม่ได้ถ้าไม่ใช่กำลังใจที่คิดจะใฝ่ดีจริง ๆ มันก็ไม่ไปดิ้นรน มันก็จะหยุดนิ่ง กลายเป็นน้ำเน่า แล้วก็มีอยู่ทางเดียวคือออกมาตกระกำลำบากข้างนอก มันก็จะได้รีดสมรรถภาพตัวเองออกมาอีก จะได้รู้ว่าตัวเองทำอะไรได้บ้าง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เชิญแสดงความคิดเห็น krub