วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เคล็ดลับจัดการเงินออม ช่วงอายุ 35 ถึง 55 ปี

ผมขอนำเรื่องเคล็ดลับการจัดการเงินออมที่ติดค้างไว้มาเล่าต่อนะครับ ท่านคงจำได้ว่าเราได้แบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่มอายุ ดังนี้

1. ช่วงอายุเริ่มทำงานถึง 35 ปี

2. ช่วงอายุ 35 ถึง 55 ปี

3. ช่วงอายุ 55 ปีขึ้นไป

                         ในตอนก่อนหน้านี้ ผมได้ปูพื้นไว้ว่า ท่านผู้อ่านที่อยู่ในวัยเริ่มทำงานจนถึงอายุ 35 ปี โดยทั่วไปจะเป็นช่วงที่ท่านมีรายได้ไม่มากนัก มีค่าใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับรายได้ ทำให้การออมค่อนข้างลำบาก แต่ผมได้แนะนำไปว่า นอกจากส่วนที่ท่านเก็บออมกับกองทุนประกันสังคมแล้ว หากท่านสามารถเจียดเงินมาออมเพิ่มเติมได้อีกสัก 10% ของรายได้ ก็จะช่วยได้มาก เช่น ท่านที่มีเงินเดือนๆ ละ 20,000 บาท หากออมได้สักเดือนละ 2,000 บาท โดยเริ่มออมเมื่ออายุ 30 ปี และได้ผลตอบแทน 5% ต่อปี ท่านจะมีเงินเก็บประมาณ 1.5 ล้านบาทเมื่อเกษียณ (ที่อายุ 60 ปี) และหากนำเงินก้อนดังกล่าวไปลงทุนแล้วทยอยนำเงินต้น และดอกผลมาใช้ทุกเดือน ท่านจะมีเงิน “บำนาญ” ให้กับตัวเองเดือนละ 10,662 บาท ซึ่งเป็นเงินบำนาญส่วนเพิ่มนอกเหนือจากที่ท่านจะได้รับจากกองทุนประกันสังคม
ผมได้แนะนำด้วยว่า สำหรับท่านที่อยู่ในวัยเริ่มทำงานถึงอายุ 35 ปี ท่านมีระยะเวลาการออมนาน และมีความสามารถรับความเสี่ยงได้มาก จึงควรแบ่งพอร์ตเงินออมเป็น 20% ซื้อหน่วยลงทุนกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตร และ 80% ซื้อหน่วยลงทุนกองทุนที่ลงทุนในหุ้น
คราวนี้เรามาพูดถึงคนที่อยู่ในวัย 35 ถึง 55 ปีบ้างนะครับ
รายได้ และค่าใช้จ่าย ช่วงอายุ 35 ถึง  55 ปี
               เมื่อเทียบกับวัยเริ่มทำงาน ท่านที่อยู่ในช่วงอายุ 35 ถึง  55 ปีจัดได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีหน้าที่การงานมั่นคงมากขึ้น และมีรายได้มากขึ้น สำหรับท่านที่ครองตัวเป็นโสดจะพบว่า เมื่อเข้าวัยนี้ การจัดการเงินออมเริ่มง่ายขึ้นเพราะท่านมีรายได้มากขึ้นแต่ไม่มีภาระค่าใช้จ่ายมากนัก หากยังไม่มีบ้าน ท่านก็จะสามารถจะเริ่มผ่อนบ้านได้ในช่วงนี้เอง
                สำหรับท่านที่มีครอบครัว ถึงแม้ว่ารายได้โดยรวมของครอบครัวจะมากขึ้น เพราะมีคนสองคนช่วยกันทำงานหารายได้ แต่เมื่อมีบุตร ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการดูแลบุตรของท่านจะกลายเป็นรายจ่ายสำคัญของครอบครัว และเป็นรายจ่ายส่วนที่ต้องดูแลให้ดีครับ
เมื่อท่านเข้าสู่ช่วงปลายของวัยทำงาน คืออยู่ในช่วงอายุ 50ถึง  55 ปี รายได้จะยิ่งมากขึ้น ในขณะที่รายจ่ายมีสัดส่วนลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อบุตรของท่านจบการศึกษา และเริ่มทำงาน ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรก็หมดไป การออมยิ่งทำได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ดี การรอคอยไปเก็บออมตอนใกล้เกษียณอาจจะสายเกินไป การออม เพื่อเกษียณจำเป็นต้องเริ่มทำตั้งแต่เริ่มต้นวัยทำงาน เพื่อให้เรามีเวลามากพอในการทำให้เงินงอกเงยครับ
สำหรับการจัดการเงินออมในวัยนี้ ผมแนะนำให้ท่านมีบัญชีเงินออมไม่ต่ำกว่า 4 บัญชี แยกออกจากกัน โดยเรียงลำดับความสำคัญจากมากไปน้อยดังนี้ครับ

1. บัญชีเงินสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน 3 ถึง  6 เท่าของเงินเดือน
ในช่วงที่ท่านยังเป็นโสด เรื่องบัญชีเงินสำรองนี้ก็สำคัญ แต่ยังไม่มากเท่าใด แต่เมื่อมีครอบครัวแล้ว การมีบัญชีเงินสำรองไม่ต่ำกว่า 3 ถึง  6 เท่าของเงินเดือนเป็นเรื่องสำคัญมากครับ
                      สาเหตุที่เราต้องมีบัญชีเงินสำรองก็เพราะว่า ในบางครั้งเราอาจจะมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงิน ถึงแม้ว่าท่านผู้อ่านที่เป็นผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครองจากกองทุนประกันสังคมในทุกจังหวะชีวิตที่เดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นการได้รับความคุ้มครองกรณี เจ็บป่วย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร หรือว่างงาน เป็นต้น ทำให้ไม่ต้องมีภาระทางการเงิน หรือช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินไปได้บ้าง แต่ในชีวิตคนเรามักจะมีเหตุจำเป็นที่ต้องใช้เงินอยู่บ้าง เช่น ค่าเบี้ยประกันรถยนต์ ค่าซ่อมรถ ค่าซ่อมบ้าน ฯลฯ เราจึงควรมีเงินสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ผมขอแนะนำว่าให้เปิดบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินออม แยกต่างหากอีก 1 บัญชี และ หยอดกระปุก สะสมไว้เป็นเงินสำรอง การมีเงินสำรองนี้ช่วยให้เรามีเงินรองรับค่าใช้จ่ายพิเศษต่างๆ ได้โดยที่ไม่ต้องกู้ยืมเงินใครมาใช้ และไม่ทำให้ครอบครัวต้องเดือดร้อนด้วยครับ
จำนวนเงินในบัญชีสำรองนี้จะมีมากน้อยขึ้นอยู่กับความมั่นคงทางการเงิน ท่านที่มีหน้าที่การงานมั่นคง (เช่น รับราชการ หรือเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ) อาจจะสำรองไว้ประมาณ 2-3 เท่าของเงินเดือน ส่วนท่านที่ทำงานเอกชน หรือคาดว่ามีแนวโน้มอาจจะต้องเปลี่ยนงานในอนาคต และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านที่มีภาระการผ่อนบ้านหรือผ่อนรถ ควรจะสำรองไว้ประมาณ 3 – 6 เท่าของเงินเดือน เพื่อให้มั่นใจว่าในช่วงที่ไม่ได้ทำงาน จะยังมีความสามารถในการผ่อนชำระได้อย่างต่อเนื่องครับ

2. บัญชีเงินออม เพื่อการศึกษาของบุตร
ตามที่ผมกล่าวไปแล้วว่า ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการดูแลบุตรนั้นเป็นรายจ่ายสำคัญของครอบครัว และท่านจำเป็นต้องดูแลรายจ่ายส่วนนี้ให้ดี นอกจากการมีบัญชีเงินสำรองแล้ว ท่านจึงควรมีอีกบัญชีหนึ่งที่เตรียมออมเงินไว้ เพื่อการศึกษาของบุตร เพื่อให้มั่นใจว่า ในช่วงที่ท่านอาจจะต้องออกจากงานหรือขาดรายได้ไปชั่วคราว ท่านจะยังสามารถดูแลค่าใช้จ่ายการศึกษาของบุตรได้อย่างต่อเนื่อง
                 สำหรับจำนวนเงินออมในบัญชีนั้น ท่านอาจจะต้องประเมินไว้ล่วงหน้าว่า ในแต่ละปี ท่านจะมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรเท่าใด ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่ได้มีแค่ค่าเทอมเท่านั้น ยังมีเรื่องเครื่องแต่งกาย ค่าตำราเรียน และอุปกรณ์การเรียน ค่าขนม และในบางกรณีที่ต้องย้ายไปเรียนไกลบ้าน อาจจะต้องเตรียมค่าเช่าหอพักด้วย
(อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้)

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เชิญแสดงความคิดเห็น krub